วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แถลงการณ์ คณะรัฐศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖

แถลงการณ์  คณะรัฐศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย
ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม  (ฉบับที่...) พ.ศ......เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้ง  เมื่อวันที่  ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖  โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีอำนาจรับคำร้อง โดยอ้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๖  วรรคห้า ประกอบมาตรา ๓  ตามหลักนิติธรรม และสิทธิของบุคคลตามมาตรา ๒๗  ว่ามีสิทธิยื่นคำร้องตาม มาตรา ๖๘ วรรคสอง

คณะรัฐศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย ไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

๑.    หลักระบบรัฐสภา  ราชอาณาจักรไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบรัฐสภา  หมายความว่ารัฐสภามีอำนาจตรากฎหมายตลอดจนแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอาศัยมติของเสียงข้างมากตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  เพราะรัฐสภามาจากปวงชนชาวไทยซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ดังนั้นรัฐสภาต้องรับผิดชอบต่อประชาชนและยึดโยงกับประชาชนอย่างใกล้ชิด ขณะที่รัฐบาลอันเป็นฝ่ายบริหารที่มาจากมติของเสียงส่วนใหญ่ในสภา  จึงต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาในฐานะที่รัฐสภาเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย  การที่รัฐสภายึดโยงกับประชาชนจึงสะท้อนเจตจำนงหรือความต้องการของประชาชนได้มากกว่าฝ่ายตุลาการหรือศาล ที่มิได้ยึดโยงกับประชาชนโดยตรงแต่อย่างใด ขณะเดียวกันการปกครองระบบรัฐสภามีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่จำเป็นอย่างเพียงพอให้เกิดดุลยภาพแห่งอำนาจสามฝ่าย ประกอบด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ  การอภิปรายทั่วไป  การตั้งกระทู้  การถามเรื่องเร่งด่วนสำคัญในสภา  การอภิปรายและยับยั้งกฎหมายของวุฒิสภา  การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ หมวด  ๑๒  มาตรา ๒๕๙-๒๗๘  หมวด ๑๓ จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา ๒๗๙-๒๘๐  การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน  มาตรา  ๑๕๖-๑๖๒  เสรีภาพในทางวิชาการในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐสภา คณะรัฐมนตรี  และศาล ตามมาตรา ๕๐  การถ่ายทอดสดการประชุมสภา  เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อสารมวลชน ซึ่งจะเห็นว่ามีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลเป็นจำนวนมาก  และแม้อำนาจสามฝ่ายขาดดุลยภาพ  ก็ไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวก่ายวินิจฉัยได้  เพราะความไม่สมดุลดังกล่าวย่อมผลักดันให้เกิดข้อเรียกร้องหรือชุมนุมเป็นแรงกดดันทางการเมืองให้แก้ไขกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญผ่านกลไกรัฐสภาตามระบบการเมืองของระบอบประชาธิปไตยในที่สุด  ดังนั้นรัฐสภาย่อมมีอำนาจโดยตรงในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดโครงสร้าง ความสัมพันธ์ขององค์กรและสถาบันทางการเมือง ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของบ้านเมือง  ดังที่ได้มีบทบัญญัติให้อำนาจรัฐสภาไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ อย่างชัดแจ้ง
๒.    หลักกฎหมายลายลักษณ์อักษร ประเทศไทยเป็นรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมายหรือนิติรัฐ(Legal state)ใช้ระบบการกฎหมายเป็นลำดับชั้น โดยมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นกฎหมายสูงสุด  คือมิได้ปกครองตามอำเภอใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  แต่ปกครองตามหลักนิติรัฐ  ดังนั้นสิ่งใดรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติไว้ว่าให้มีอำนาจกระทำได้ถือไม่มีอำนาจกระทำตามหลักการตีความกฎหมายมหาชนที่ว่า“ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้  ฝ่ายปกครองจะกระทำมิได้” ดังนั้นกรณีศาลรัฐธรรมนูญ  อ้างมีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา  ๖๘ วรรคสอง ถือเป็นการตีความผิดหลักนิติวิธีของกฎหมายมหาชน เพราะไม่มีบทบัญญัติมาตราใดตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้  แต่การอ้างอำนาจวินิจฉัยของศาล โดยอ้างมาตรา ๓ วรรคสอง มาตรา ๒๑๖ วรรคห้า  มาตรา ๒๗  และ มาตรา ๖๘ วรรคสอง เสมือนการขยายความขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้นิติวิธีตีความแบบหลักกฎหมายแพ่งคือ“เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามไว้  เอกชนจะกระทำอย่างไรก็ได้”เป็นว่า“เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามไว้  ศาลจะกระทำอย่างไรก็ได้” ดังนั้นการตีความของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นการตีความที่ผิดนิติวิธี  คือขัดต่อกฎแห่งกฎหมาย หรือนิติธรรม(Rule of Law)  ย่อมถือได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญโดยจงใจทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา  ๓ วรรคสอง  เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้ง
๓.    หลักเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย   เจตนารมณ์ทางกฎหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘  ต้องค้นหาความหมายจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญ  สภาร่างรัฐธรรมนูญ  และการอภิปรายในคณะกรรมาธิการและรัฐสภา  โดยที่รัฐธรรมนูญ  มาตรา ๖๘ ปรากฏในหมวด ๓ ว่าด้วย “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” และเป็นบทบัญญัติที่มีบทบัญญัติมาจากมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญ  ๒๕๔๐  ซึ่งผู้ร่างเห็นพ้องว่า ผู้ยื่นคำร้องต้องยื่นต่ออัยการสูงสุดเท่านั้น โดยมีเหตุประกอบ คือเพื่อกลั่นกรองมิให้คดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก  โดยไม่ปรากฏว่าสาระสำคัญของคำอภิปรายเป็นอย่างอื่น  ดังนั้นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้คือให้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเท่านั้น แต่การที่ศาล รัฐธรรมนูญรับคำร้องจากผู้ร้องโดยตรง มาตรา  ๖๘  วรรคสอง  และเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา ๖๘  วรรคหนึ่ง  ถือเป็นการตีความที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะการกระทำของรัฐสภาเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา  ๒๙๑  ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ  รัฐสภามิได้กระทำไปโดยอ้างสิทธิและเสรีภาพ ตามมาตรา  ๖๘ วรรคหนึ่งแต่อย่างใด
๔.    หลักจารีตการปกครองและแนวปฏิบัติที่ผ่านมา  เป็นที่ยุติและยอมรับกันทุกฝ่ายในยุคร่วมสมัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา  ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๓๔  และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐  ว่าอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภา  โดยจารีตแนวปฏิบัตินี้กลายเป็นบรรทัดฐานของระบบการเมืองร่วมสมัยและกลายเป็น“สัญญาประชาคม”ที่ทุกฝ่ายยอมรับโดยดุษฎีโดยมิเคยปรากฏว่าเกิดข้อโต้แย้ง ถกเถียง หรือการวิพากษ์วิจารณ์แต่ประการใด  แม้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ก็ไม่มีข้อโต้แย้งในเรื่องอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  และเข้าใจตรงกันว่าอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภาแต่ฝ่ายเดียว  เว้นแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ยกร่างและให้ลงประชามติรับรองหรือไม่รับรองทั้งฉบับ พร้อมสร้างเงื่อนไขบังคับเลือกอันปฏิเสธไม่ได้ว่าหากร่างรัฐธรรนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ไม่ผ่านการประชามติ  คณะรัฐประหารยุคนั้นมีอำนาจหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดมาบังคับใช้ก็ได้  ภายใต้ความหวาดกลัวทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีทางเลือกหนทางเดียว คือ ถูกบังคับให้รับร่างรัฐธรรมนูญโดยดุษฎี ซึ่งเป็นบรรยากาศแห่งความกลัวของการทำประชามติ ภายใต้อำนาจคณะรัฐประหาร ซึ่งวิญญูชนย่อมทราบดีว่ามิอาจนำเหตุการณ์อันไม่ปกตินี้มาลบล้าง “สัญญาประชาคม”ในระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นแล้วได้แต่อย่างใด
๕.    หลักความขัดกันแห่งผลประโยชน์  รัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพราะอำนาจของรัฐสภาเกี่ยวโยงกับอธิปไตยของประชาชนผ่านตัวแทนที่ประชาชนให้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง รัฐสภาจึงยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยมากกว่าศาลรัฐธรรมนูญ  รัฐสภาจึงมีอำนาจเด็ดขาดในแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสถาบันและองค์กรทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งมีอำนาจให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ยุบเลิกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้หากศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขัดหรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่สถานการณ์ความขัดกันแห่งผลประโยชน์ กล่าวคืออาศัยหลักความเป็นกลางศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจรับคำร้องตามที่มีผู้ยื่นตามมาตรา ๖๘ วรรคสองได้  เพราะศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการวินิจฉัย  ความหมายย้อนกลับเชิงตรรกะ คือศาลไม่มีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา ๖๘ วรรคสองเพื่อวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกกรณี  ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลที่ได้แสดงมาแล้วใน ๔  ข้อที่ผ่านมาว่า ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดตามรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
๖.    หลักการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ  มาตรา ๖๘ วรรค สอง บัญญัติว่า“สั่งการให้เลิกการกระทำ” ตามกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคำร้องหลังจากที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๐ แล้ว  ถือได้ว่าร่างรัฐธรรรมนูญได้พ้นไปจากรัฐสภาแล้ว  การสั่งให้เลิกการกระทำตามมาตรา ๖๘วรรคสอง  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลผูกพันใดทั้งต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐสภา  และรัฐสภามีหน้าที่รอพระราชวินิจฉัยตามมาตรา ๑๕๑  เท่านั้น

ด้วยเหตุผลที่ยกมานี้  คณะรัฐศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย  จึงเรียกร้องให้รัฐสภาปฏิเสธอำนาจการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าว  เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง  เพราะผู้ถูกร้องมิได้กระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา  ๖๘ วรรคหนึ่ง และให้รัฐสภารอพระราชวินิจฉัยตามมาตรา ๑๕๑  เพื่อปกป้องคุ้มครองและรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบบรัฐสภา

วันที่ ๒๔  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖