วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วิพากษ์ : ประกันสังคม รัฐต้องจ่ายสมทบอีกต่อไป?

บทนำ

ระบบประกันสังคม เป็นระบบสวัสดิการทางสังคมประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นและแพร่หลายในประเทศต่างๆ รัฐบาลในแต่ละประเทศมีวิธีการจัดการกองทุนประกันสังคมแตกต่างกันคือ รัฐจ่ายเงินอุดหนุน กับรัฐไม่จ่ายเงินอุดหนุน

ประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ดำเนินงานด้วยการอุดหนุนระบบประกันสังคมมาแต่แรกเิริ่มการก่อตั้งสำนักงานประกันสังคม โดยอัตราการอุดหนุนเป็นไปตามพระราชกฤษฎี

การประกันสังคมที่ประเทศต่าง ๆ ใช้อยู่ในปัจจุบันจะมีหลักการที่ไม่แตกต่างกัน 
เนื่องจากการประกันสังคมเป็นโครงการการบริหารทาง สังคมในระยะยาวอีกระบบหนึ่งที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดขึ้น ด้วยการให้ประชาชนผู้มีรายได้แต่ละคนได้มีส่วนช่วยตนเองหรือครอบครัว โดยร่วมกันเสี่ยงภัยหรือช่วยเหลือบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนซึ่งกันและกันระหว่างผู้มีรายได้ในสังคม ด้วยการออกเงินสมทบเข้ากองทุน เรียกว่า กองทุนประกันสังคม โดยมีนายจ้าง ลูกจ้างและในบางประเทศมีรัฐบาลร่วมออกเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ด้วย กองทุนนี้จะจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ส่งเงินสมทบเมื่อเกิดความเดือนร้อน เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ว่างงาน ชราภาพ เป็นต้น ดังนั้นการประกันสังคมจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ยึดหลักการพึ่งตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ของประชาชน โดยมีความมุ่งหมายที่จะเป็นหลักการพึ่งตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันของประชาชน โดยมีความมุ่งหมายที่จะเป็น หลักประกัน และคุ้มครองความเป็นอยู่ของประชาชน ให้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตแม้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องขาดแคลนรายได้ก็ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (1989) ได้กำหนดหลักการของการประกันสังคมของการประกันสังคม ไว้ดังนี้ 
1. การประกันสังคมจะมีการบริหารทางการเงินโดยวิธีการจัดเก็บเงินสมทบ ซึ่งโดยปกติมักมาจากการสมทบของนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งนี้รัฐจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบหรือเงินอุดหนุนอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ก็ได้ 
2. การเข้ามามีส่วนร่วมในการประกันสังคมนั้นจะเป็นลักษณะของการบังคับซึ่งมีข้อยกเว้นน้อยมาก 
3. เงินสมทบที่จ่ายมานั้นจะจัดตั้งเป็นกองทุนพิเศษ ซึ่งต้องนำไปจ่ายเป็นประโยชน์ทดแทนตามที่กำหนด และนำไปใช้ในการบริหาร 
4. ส่วนเกินของเงินสมทบจะนำไปลงทุนเพื่อให้กองทุนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 
5. สิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนขึ้นอยู่กับการได้จ่ายเงินสมทบ ที่เป็นไปตามเงื่อนไข โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบความจำเป็น หรือการตรวจสอบรายได้แต่อย่าใด 
6. อัตราเงินสมทบและอัตราประโยชน์ทดแทนจะมีความสัมพันธ์กับรายได้ของผู้ประกันตน 
7. การประกันสังคมกรณีเจ็บป่วยจากการทำงานโดยทั่วไป จะมาจากการสนับสนุนทางการเงินจากนายจ้างแต่เพียงผู้เดียว โดยอาจมีรัฐช่วยจ่ายเงินอุดหนุน

จวบจนกระทั่งได้มีการผลักดันพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2533 เป็นต้นมา ประเทศไทยจึงมีการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบโดยลูกจ้างจะได้รับ ความคุ้มครองทั้งในเรื่องการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และตาย ทั้งนี้เนื่องและไม่เนื่องจากการทำงาน รวมไปถึงการคลอดบุตรสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ

ค่าใช้จ่ายที่นำมาใช้เพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนและค่าบริหารงาน จะมาจากการจัดเก็บเงินสมทบที่นายจ้างลูกจ้าง และหรือรัฐบาลร่วมกันออก  ดังนั้นในการกำหนดโครงการหรือแผนการดำเนินงานประกันสังคมในทุกประเทศจึงมักจะคำนึงถึงฐานะการเงินของทุกฝ่ายว่าจะสามารถออก เงินสมทบ ได้โดย ไม่กระทบกระเทือนต่อฐานะการเงินและต้องไม่เป็นภาระต่อเงินงบประมาณของภาครัฐมากนัก

การอุดหนุนที่ผ่านมา

ผมเห็นด้วยในหลักการว่าระยะแีรกของการก่อร่างสร้างตนของกองทุนประกันสังคม  รัฐจำเป็นต้องให้เงินอุดหนุนไม่ว่าในรูปของเงินประเดิม งบประมาณสร้างสำนักงาน และจ่ายเงินสมทบร่วมกับกับฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างรวมเป็น 3 ฝ่าย ดังที่ปรากฏในระยะแรกของการดำเนินงานที่ผ่านมานับแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา

ดังที่ปรากฏใน พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา  ๔๖  "ให้รัฐบาล  นายจ้าง  และผู้ประกันตนตามมาตรา  ๓๓  ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย  กรณีทุพพลภาพ  กรณีตาย  และกรณีคลอดบุตร  ฝ่ายละเท่ากันตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง  แต่ต้องไม่เกินอัตราเงินสมทบท้ายพระราชบัญญัตินี้" ฯลฯ โดยอัตราที่กำหนดไว้คือ  อัตราเงินสมทบเป็นร้อยละของค่าจ้างของผู้ประกันตนคือไม่เกินร้อยละ  ๑.๕  ๓ และ ๕

แต่วันหนึ่งเมื่อสำนักงานประกันสังคมเข้มแข็ง  กองทุนฯมีกำไรสะสมจากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ
กลายเป็นกองทุนขนาดใหญ่มหึมาที่เข้มแข็งและดูแลตนเองได้ 
ผมเห็นว่ารัฐบาลต้องทบทวน เพื่อยุติการอุดหนุน เพื่อนำเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปใช้เพื่อการอื่น หรือสมทบทุนกองทุนอื่นๆ ที่จะมีต่อไปในอนาคต

เพราะต้องไม่ลืมว่า  เงินภาษีจากคน 100 คน หากจัดสรรไปให้คน 99 คน ก็ยังเรียกได้ว่า "ไม่เป็นธรรม" ต่อคนอีก 1 คนที่ไม่ได้รับสิทธินั้น
เพียงแต่ว่าในทางปฏิบัตินั้น คน 1 คนนั้นรอได้ เพราะตนเองไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือในกฎเกณฑ์ครั้งนั้น  แต่ในโอกาสต่อๆไป คน 1 คนนั้นก็อาจได้รับสิทธิประโยชน์จากการจัดสรรโดยอำนาจรัฐก็เป็นได้ นั่นคือว่า เป็นเรื่องของโอกาส การเรียกร้อง และการแบ่งปันช่วยเหลือกัน

การอุดหนุนในอนาคต

ดังนั้น  เมื่อถึงเวลาเหมาะสม  เช่น ในยุคปัจจุบันที่กองทุนประกันสังคมมีกองทุนกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าแข็งแกร่งมากเพียงพอแล้วรัฐก็ควรยุติให้เิงินอุดหนุน

เพราะำการจำเงินของทุกคนในแผ่นดินไปอุดหนุนคนกลุ่มหนึ่งแบบถาวร  ย่อมไม่เป็นธรรมกับคนส่วนที่เหลือ

แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ พฤติการณ์แบบความเคยชิน "สิ่งที่ได้แล้วจะเคยชิน" เพราะคิดไปเองว่าเป็นสิทธิที่สมควรได้รับ  ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อรัฐบาลใดๆคิดการจะเข้าไปขยับกองทุนประกันสังคมไม่ว่าในทางสร้างสรรค์หรือไม่  ก็จะมีกลุ่มผู้ออกมาต่อต้าน เพราะเห็นว่ากองทุนนั้นเป็นเิงินของตนเองฝ่ายเดียว?

ทั้งที่ในความเป็นจริง เงินในกองทุนประกันสังคมก็เป็น เงินจากภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศรวมอยู่ด้วย นับรวมกันแล้วนับแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันก็อาจมีมากถึงหลัก 100,000 ล้านบาท(โดยกะประมาณ แต่ตัวเลขแท้จริงหามาได้ในอนาคต)

ก็เงิน 100,000 ล้านบาทนั้นเป็นเงินของทุกคนในชาติ  การที่รัฐบาลจะเข้าไปจัดการกองทุนประกันสังคม ก็ย่อมมีสิทธิในฐานะถือหุ้น 1/3 ของกองทุน หรือแม้กระทั่งตรากฎหมาย เรียกเิงินสมทบคืนมาทั้งหมด ก็ยังกระทำได้  หากประชาชนเ้จ้าของประเทศเห็นว่ามีเหตุผลและเห็นดีเห็นงาม

เพราะเงินจำนวนเดียวกันนี้ หากรัฐบาลนำไปเป็นทุนประเดิมก่อตั้งกองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนภาคเกษตรกร หรืออื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่คิดริเริ่มได้ เป็นต้น

สรุป

ประชาชนเ้จ้าของประเทศทุกคนต้องไม่ลืมว่า ประชาชนคือเจ้าของเงินภาษีอากร ที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแม้กระทั่งค่าไฟฟ้า ดังนั้นประชาชนเพียง 1 คน ก็มีสิทธิสงสัยและทวงถามความชอบธรรมของการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ของรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และกองทุนประกันสังคม ก็อยู่ในข่ายนั้น คือ ไม่พ้นข้อสังสัย และทวงถามความสมเหตุผลในการให้เงินอุดหนุนต่อไป

1 ความคิดเห็น: