วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สิทธิที่ได้มา กับหน้าที่อันไม่สมบูรณ์

ข่าวร้ายในรอบปี...เมื่อพ่อบังเกิดเกล้ากระโดดถีบลูกสาววัย 6 ขวบ อวัยวะภายในบอบช้ำและกรามหัก และถึงแก่ชีวิตในที่สุด

โดยบิดาผู้ก่อเหตุ วัย 31 ปี ให้การรับสารภาพว่า"ลูกสาวกินไอติมแล้วหกเลอะในบ้านและยังอาเจียนเลอะบนพื้นอีก จึงให้ไปล้างปากในห้องน้ำ เมื่อลูกสาวออกจากห้องน้ำมา จึงบันดาลโทสะกระโดดถีบที่ท้องของลูกสาว จนกระเด็นไปติดข้างฝาผนังปูนบ้าน แล้วตบอย่างแรงจนลูกสาวล้มลงไปที่พื้นแล้วแน่นิ่งไป แต่ไม่คิดว่าลูกสาวจะเสียชีวิตครั้งนี้ เมื่อลูกสาวแน่นิ่งไปนานกว่า 20 นาที ไม่ลุกขึ้นมา" (ข่าวสด)

เศร้าใจ อนาถใจจริงๆ

พิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าพ่อรายนี้มีลูกขณะที่มีอายุ 25 ปี ซึ่งนับว่าพอเหมาะสม ดีกว่าหลายๆพ่อที่มีลูกคนแรกตอนอายุ 18 ปี เพราะหากลูกอายุ 6 ขวบพ่อมีอายุเพียง 24 ปีเท่านั้นเอง
พิจารณาจากอายุแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจะวู่วาม อารมณ์ร้อน กระทั่งก่อเหตุร้ายได้ แต่เมื่อพิจารณาจากหน้าตา ราศี และการที่เมียตีจากโดยกลายๆแล้ว น่าสงสัยว่าเคยมีประวัติซ้อมเมียมาก่อน...ไม่อย่างนั้นคนเราจะไม่เคยชินกับกับใช้ความรุนแรง ดังนั้นการที่อ้างว่าเครียด เพราะเมียตีห่างอาจเป็นเพระเคยเมียเคยโดนซ้อมมาก่อน..เป็นการสัณนิษฐานที่มีเหตุผล

อย่างไรก็ตาม การที่เขามี"สิทธิ"ในการเีลี้ยงดูเด็ก เพราะเห็นว่าเขาเป็น "พ่อ"โดยธรรมชาติ โดยอัตโนมัติ 

บ่อยครั้งที่พ่อหรือแม่ไม่มีสิทธิในการเลี้ยงดูลูก เพราะอาจถูกศาลสั่งห้าม อาจเนื่องจากติดยาเสพติด ก่ออาชญากรรมเนือง หรือ ติดการพนันอย่างรุนแรง ฯลฯ

ดังนั้นการที่ผู้ก่อเหตุมี"สิทธิ"ในตัวเด็ก อาจเป็นสิทธิที่เขาไม่อยากมี ไม่เต็มใจรับ เพราะมองว่าก่อให้เกิดภาระ"หน้าที่"ในการเลี้ยงดู   ผู้ก่อเหตุไม่พร้อมจะทำหน้าที่ แต่สิทธินั้นก็ลอยมาและสำเร็จผ่านกระบวนการตามธรรมชาติ คือ คนเราสมสู่กัน จากนั้นก็ท้อง และมีุบุตร

ความจริงการมีสิทธิ หรือสิทธิที่ได้มาแบบ"ไม่เจตนา" กับ หน้าที่"ไม่อยากมี" เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน  เพราะมีพ่อแม่จำนวนมากที่มีสิทธิในตัวเด็ก  แต่ไม่อาจทำหน้าที่อบรม เลี้ยงดูให้"มาตรฐาน"ได้  

กรณีพ่อโหดรายนี้ ก็เป็นอุทธาหรณ์สอนใจว่า การมีครอบครัวและบุตร ควรมีความพร้อมให้มากที่สุด จะได้ไม่ต้องมาอ้างเรื่อง ไม่มีเวลา หรือว่ายากจน เพราะการศึกษาน้อยกันอีกต่อไป

เราต้องมาทบทวนกันว่า การแต่งงานและการมีบุตรเป็นแค่เรื่องของสิทธิส่วนบุคคล หรือว่า มันเป็นเรื่องของหน้าที่ เป็นพันธะกรณีต่อลูกและสังคม เพราะหากทำหน้าที่อบรมเลี้ยงดูดี ก็เท่ากับว่าเขามีสิทธิในตัวเด็กเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่กระดากใจที่จะกล่าวว่า ตนเองเป็นพ่อผู้ประเสริฐ เป็นพรหม  เป็นอรหันต์ของลูก แต่หากทำในสิ่งตรงข้าม อย่าว่าแต่เป็นมนุษย์เลย แม้แต่พ่อแม่สัตว์เดรัจฉานอย่างช้าง หรือลิง เขาก็ยังด้อยค่าเกินกว่าจะนำไปเปรียบเทียบได้

เพราะคุณค่าต่้างๆเหล่านั้นได้มาเพราะการทำหน้าที่ ไม่ใช่ว่าจะได้มาแบบอัตโนมัติพลันที่มีลูก
นั่นคือว่า ตราบที่เขายังทำหน้าที่อยู่ เขาก็มีสิทธิในตัวเด็ก

ถ้าอย่างนั้นหน้าที่มนุษยชน ก็คือ แหล่งที่มาของสิทธิ หรือว่าสิทธิ ก่อให้เกิดหน้าที่กันแน่?
นั่นคือ ทำหน้าที่สมบูรณ์ จึงมีสิทธิในตัวเด็ก 
หรือว่า จริงๆแล้วก็คือว่า เขามีสิทธิในตัวเด็กในฐานะพ่อแม่  ก่อให้เกิดหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเด็ก เช่น สิทธิในการได้รับอาหารที่ดีมีคุณค่า สิทธิในการได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอ ฯลฯ

แต่...ไม่ว่าเป็นความสัมพันธ์อย่างแรก หรืออย่างหลัง สังคมมนุษย์ควรให้น้ำหนักเรื่อง หน้าที่มนุษยชน ให้
มากกว่านี้  ให้ความสำคัญมากกว่านี้ อย่างน้อยๆก็ให้น้ำหนักเท่ากับสิทธิเสรีภาพ ที่บัดนี้กำลังแพร่ระบาดและล้นเกิน

เพราะหาไม่แล้วเรือที่บรรทุกน้ำหนักเพียงด้านเดียว เพียงลมเบาๆ และคลื่นเล็กๆ ก็สามารถทำให้มันอับปางและจมลงทะเลในที่สุด

ขอให้  ด.ญ.เพ็ญพิกุล คงคาศรี ไปสู่สุคติด้วยเถิด  เกิดใหม่ชาติหน้าและชาติต่อไป ขออย่าได้พบพ่อที่ใจร้ายแบบนี้อีก

ปล.ปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ นับแต่วันแรกที่ค้นพบบนโลก หากคนนั้นซึ่งมีไม่เกิน 5 คน ยินยอมเสียสละและทำหน้าที่มนุษยชน ยินยอมกักบริเวณตนเองหรือ ไม่สมสู่  วันนี้โลกคงไม่มีคนป่วย หรือตายเป็นโรคเอดส์นับล้านคนทั่วไป..หน้าที่มนุษยชน สำนึกรวมหมู่เพื่อส่วนรวม เป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ และเป็นเกียรติที่สูงส่งที่เขาควรได้รับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น