วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ภพ ภูมิ ชาติ และโลก

ภพ โลกเป็นที่อยู่ของสัตว์, ภาวะชีวิตของสัตว์ มี ๓ คือ
       ๑. กามภพ ภพของผู้ยังเสวยกามคุณ
       ๒. รูปภพ ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาน
       ๓. อรูปภพ ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาน
ภูมิ
       1. พื้นเพ, พื้น, ชั้น, ที่ดิน, แผ่นดิน
       2. ชั้นของจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต มี ๔ คือ
           ๑. กามาวจรภูมิ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม
           ๒. รูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป หรือชั้นของพวกที่ได้รูปฌาน
           ๓. อรูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป หรือชั้นของพวกที่ได้อรูปฌาน
           ๔. โลกุตตรภูมิ ชั้นที่พ้นโลก หรือระดับพระอริยบุคคล
ชาติ  หมายถึง การเกิด ชนิด พวก เหล่า เช่น การไปเกิดในภพนั้นๆ ก็เป็นพวกของเหล่านั้น เช่น ชาติมนุษย์ พระมหาสัตว์ในพระชาติสุดท้ายเป็นมนุษย์ เป็นต้น

โลก แผ่นดินเป็นที่อาศัย  หมู่สัตว์ผู้อาศัย
       โลก ๓ คือ
           ๑. สังขารโลก โลกคือสังขาร
           ๒. สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์
           ๓. โอกาสโลก โลกคือแผ่นดิน;
       อีกนัยหนึ่ง
           ๑. มนุษยโลก โลกมนุษย์
           ๒. เทวโลก โลกสวรรค์ ทั้ง ๖ ชั้น
           ๓. พรหมโลก โลกของพระพรหม
เราจะเห็นว่า  ภพ โลกเป็นที่อยู่ของสัตว์ มีเพียง ๓ คือ  ๑. กามภพ ภพของผู้ยังเสวยกามคุณ ๒. รูปภพ ภพของผู้เข้าถึงรูปฌานและ ๓. อรูปภพ ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาน แต่จะไม่บัญญัติว่ามีโลกุตตรภพ นั่นคือ สำหรับผู้มีภูมิจิตระดับโลกุตตรภูมิ เช่น อรหันต์ จะไม่มีภพอีกต่อไป นั่นคือไม่มีภพหรือแดนสำหรับอรหันต์ผู้ถึง นิพพาน

สี่คำนี้ คือ ภพ ภูมิ  ชาติ และโลก มีความหมายแตกต่างกัน เช่น ตามหลักฝ่ายอภิธรรม จำแนกจิตเป็น ๘๙ (หรือพิสดารเป็น ๑๒๑)
       แบ่งโดยชาติ เป็น
           อกุศลจิต ๑๒
           กุศลจิต ๒๑ (พิสดารเป็น ๓๗)
           วิปากจิต ๓๖ (๕๒) และ
           กิริยาจิต ๒๐;
       แบ่งโดยภูมิ เป็น
           กามาวจรจิต ๕๔
           รูปาวจรจิต ๑๕
           อรูปาวจรจิต ๑๒ และ
           โลกุตตรจิต ๘ (พิสดารเป็น ๔๐)
(แต่จิตจะแบ่งโดยภพไม่ได้เช่น ในภพมนุษย์ ภูมิจิตมีระดับแตกต่างกันมากในมนุษย์แต่ละคน เช่น ๑. กามาวจรภูมิ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม  ๒. รูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป หรือชั้นของพวกที่ได้รูปฌาน ๓. อรูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป หรือชั้นของพวกที่ได้อรูปฌาน หรือ ๔. โลกุตตรภูมิ ชั้นที่พ้นโลก หรือระดับพระอริยบุคคลก็มีอยู่และอยู่ร่วมกันในภพมนุษย์นี้)

ขณะภพของพรหม หรือโลกของพรหมนั้น มี 20 ภพ ซึ่งแต่ละภพเป็นที่อยู่ของภูมิจิตภูมิธรรมระดับเดียวกันเช่น รูปพรหม หรือ รูปภพ(ภพของผู้ไปเกิดเพราะอำนาจของรูปฌานสมาบัติและตายในขณะจิตนั้น) มี ๑๖ ชั้น ตามลำดับ ดังนี้
           ๑. พรหมปาริสัชชา
           ๒. พรหมปุโรหิตา
           ๓. มหาพรหมา
           ๔. ปริตตาภา
           ๕. อัปปมาณาภา
           ๖. อาภัสสรา
           ๗. ปริตตสุภา
           ๘. อัปปมาณสุภา
           ๙. สุภกิณหา
           ๑๐. อสัญญีสัตตา
           ๑๑. เวหัปผลา
           ๑๒. อวิหา
           ๑๓. อตัปปา
           ๑๔. สุทัสสา
           ๑๕. สุทัสสี
           ๑๖. อกนิฏฐา;
นอกจากนี้ยังมี อรูปพรหม  หรืออรูปภพ(ภพของผู้ไปเกิดเพราะอำนาจของอรูปฌานสมาบัติและตายในขณะจิตนั้น) ซึ่งแบ่งเป็น ๔ ชั้น คือ
           ๑. อากาสานัญจายตนะ
           ๒. วิญญาณัญจายตนะ
           ๓. อากิญจัญญายตนะ
           ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ
ขณะที่ สุทธาวาส ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ คือ ที่เกิดหรือภพของพระอนาคามี(อริยะบุคคล) ได้แก่ พรหม ๕ ชั้นที่สูงสุดในรูปภพ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา นั่นคือ พระอนาคามีเมื่อสิ้นอายุในชาตินี้แล้ว จะไปเกิดเป็นพระพรหม ที่เรียกว่า อนาคามีพรหม และจะนิพพานในพรหมโลกชั้นสุทธาวาสนั้น
หรือ กรณีการไปเกิดใน อรูปภพ อันเป็นที่อยู่ของอรูปพรหม  เช่น อาฬารดาบส และอุทกดาบส เป็นตัวอย่างของผู้สิ้นอายุแล้ว ไปเกิดเป็นอรูปพรหม เพราะได้อรูปฌานสมาบัติ เป็นต้น)

ดังนั้นคำว่า ภพ ภูมิ ชาติ และโลก จึงมีความหมายแตกต่างกัน

เช่น คำว่าอนาคามี ย่อมปรินิพพานในภพนั้น(คือปรินิพพานในรูปภพ หรือ พรหมโลกชั้นสุทธาวาส) หมายความว่า อนาคามี จะไม่มาเกิดในภพมนุษย์อีกต่อไป นี่ก็เป็นองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อนมากที่สุดเรื่องหนึ่งในศาสนาอันยอดเยี่ยมนี้(ซึ่งความหมายระหว่างบรรทัด คือ ตายแล้วไม่สูญอย่างแน่แท้  แม้ว่าอยากสูญก็ไม่สูญ  แม้ว่าไม่อยากเกิดก็ต้องไปเกิด หากไม่รู้จักวิธีดับเหตุแห่งการเกิด หรือเหตุแห่งการดับภพ)

ดังนั้นการกล่าวว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ เป็นคำกล่าวที่ถูกในแง่ของภูมิจิต คือขณะอยู่ในภพมนุษย์นี้ เขาอาจมีภูมิจิตเป็นพวกสัตว์นรก มนุษย์ เทวดา พรหม โลกุตตรภูมิ  ก็ได้)แต่ผลของกรรมดีและกรรมชั่ว อันเกิดแต่ภูมิแห่งจิตนั้นๆ ยังเกาะเกี่ยวและนำไปสู่คำว่า ภพ และชาติ ด้วยในที่สุด 

นั่นคือ กรรมสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมและแสวงหาภพหรือมีภพ เป็นสัมภเวสีอยู่ร่ำไป ตราบเท่าที่ยังไม่
นิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น