วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สองนครา สามปรัชญาประชาธิปไตย

กรอบทฤษฎีของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่อธิบายปรากฏการณ์การเมืองไทยภายใต้ "สองนคราประชาธิปไตย" ทำให้เรามองเห็นภาพรวมของการเมืองไทยได้ชัดเจน
คือ ทำให้เรามองเห็นว่าคนชนบทเลือกผู้แทนมา เพื่อตั้งรัฐบาล  แต่คนเมือง(หลวง)ก็ล้มรัฐบาลนั้นไปเสียทุกคราว เพราะคนชนบทมีอำนาจมากในแง่ของจำนวน แต่คนเมืองมีอำนาจมากในแง่ของ อิทธิพล ข้อมูล การเข้าถึงสื่อ ตลอดจนการอยู่ใจกลางศูนย์อำนาจการเมืองการปกครอง

กรณีความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างกลุ่มพธม. กับ นปช. คือนับแต่อดีตนายกฯสมัครเรื่อยมาตราบถึงนายกฯอภิสิทธิ์  ก็คือ ร่างทรงของการต่อสู้ ภายใต้กรอบทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยนี้ด้วยเช่นกัน 

กรณีความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่าง พธม.กับ นปช. หากพิจารณาภายใต้กรอบปรัชญาประชาธิปไตย(ไม่พูดถึงวาระซ่อนเร้นเรื่องมีเส้นหรือไม่?) เราจะพบว่ามันคือปรากฏการณ์ "สองนครา สามปรัชญาประชาธิปไตย"

นั่นคือฝ่าย พธม. และแนวร่วมยึดถือธง ความชอบธรรม คุณธรรมจริยธรรมของรัฐบาลเป็นสรณะ
ขณะที่ฝ่าย นปช.และแนวร่วมยึดถือ รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ(นิติรัฐ) และเสียงข้างมากเป็นสรณะ

เท่ากับว่าต่างฝ่ายต่างอ้างเอาคุณสมบัติบางประการของประชาธิปไตยมาต่อสู้กัน ต่างนิยามความชอบธรรมกันคนละแบบ เพื่อช่วงชิงชัยชนะมาเป็นของฝ่ายตน


(1) ปกครองด้วยกฎหมาย หรือหลักนิติรัฐ และยอมรับเฉพาะกฎหมายที่ตราโดยสภานิติบัญญัติที่มาจาการเลือกตั้ง(ไม่ยอมรับกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหาร)
(2) หลักการเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง และในรัฐสภา  และเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย
(3) ความชอบธรรม นั่นคือรัฐบาลนั้นต้องมาจากความชอบธรรม เช่น ไม่ทุจริตการเลือกตั้ง ไม่มาจากการแต่งตั้งของทหารหรือคณะรัฐประหาร ไม่ทุจริตโกงกินงบประมาณ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ

การต่อสู้กันของทั้งสองฝ่ายภายใต้หลัก ๓ ปรัชญาประชาธิปไตย โดยที่แต่ละฝ่ายเลือกหยิบปรัชญามาเพียงข้อใดหรือหนึ่ง คือ เลือกกล่าวถึงปรัชญาเพียงบางส่วนของ ๓ ปรัชญานี้ เท่ากับว่าเป็นการบิดเบือนหลักการประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง

เช่น กรณี พธม.ขับไล่ รัฐบาลของ นายกฯสมัคร ที่ชนะการเลือกตั้งมาตามกรอบของรัฐธรมนูญ ตามหลักนิติรัฐ(ข้อ 1 ซึ่งฝ่ายนปช.ยอมรับหากมันมีประโยชน์ต่อฝ่ายตน แม้อ้างตลอดเวลาว่า รธน.มาจากคณะรัฐประหารก็ตาม) ด้วยข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลสมัครเป็น นอมินี หรือร่างทรงของระบอบทักษิณ ทำให้ขาดความชอบธรรม(ข้อ 3)ในความเห็นของ พธม.  เท่ากับว่า พธม. เลือกหยิบปรัชญาบางข้อของ 3 ปรัชญาประชาธิปไตยมาเล่นงานฝ่ายตรงข้าม

เพราะหาก พธม.เคารพหลักนิติรัฐ  ก็ต้องหาช่องทางฟ้องร้องเอาผิดรัฐบาล(นับแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ไม่ปล่อยให้ยืดเยื้่อกระทั่งรัฐประหาร) และต้องไม่เลือกที่จะยึดทำเนียบ ฯลฯ เพราะสุดท้ายแล้วเราจะเห็นว่านายกฯสมัคร พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เกิดจากการใช้กำลังของ พธม.แต่อย่างใด แม้ในกรณีของนายกฯสมชายก็เช่นเดียวกัน คือต่อสู้กันตามหลักนิติรัฐได้

แต่ พธม.เลือกที่จะปิดถนน ยึดทำเนียบ สนามบิน ฯลฯ ซึ่งขัดต่อหลักนิติรัฐ  เพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออก
เพราะมีวาระซ่อนเร้นอย่างใดอย่างหนึ่ง(เรื่องเส้น?)

ขณะที่ฟาก นปช. ก็อ้างเพียงแต่หลักการ(ข้อ 1 และข้อ 2) โดยละเลยไม่สนใจเรื่องคุณธรรมจริยธรรม(ข้อ 3) ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกทางการเมืองมาก  อาจเพราะถือคติตามระบอบทักษิณว่า"โกงบ้างไม่เป็นไร ขอให้ทำงานดี" โดยปมที่ถูกกล่าวหาคือ ปัญหาคุณธรรมจริยธรรม ว่าด้วยการเลี่ยงภาษี การทุจริตเชิงนโยบาย ฯลฯ)

การขับเคี่ยวกันระหว่าง 2 ขั้วการเมืองนี้  ทำให้ประชาชนเ้จ้าของประเทศตกอยู่ในภาวะสับสนและลังเล..เลือกข้างไม่ถูกเป็นจำนวนมาก

บางคนชอบอุดมการณ์ พธม. แต่ไม่ชอบวิธีการต่อสู้  บางคนชอบ นปช. แต่ก็คลางแคลงใจว่าจะถูกช่วงใช้  
บางคนไม่ชอบ ปชป. จึงไม่ชอบ พธม.ตามไปด้วย บางคนไม่ชอบเฉลิมจึงไม่ชอบ นปช. บางคนไม่ชอบ พธม. จึงไม่ชอบ ปชป.ตามไปด้วย ฯลฯ 

สรุปคือว่า ประชาชนมองเห็นแต่ทาง 2 แพร่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยวาระทางการเมือง หรือโวหารของแต่ละ่ฝ่าย คือ ถูกล่อลวงหรือยัดเยียดให้ต้องเลือกข้างโดยอ้างหลักประชาธิิปไตย ทั้งที่จริงๆแล้วทางเลือกนั้นเป็นทาง 3 แพร่ง คือ เพราะ 2 ทางแรกนั้นถูกบิดเบือน และเป็นเพียงมายาของประชาธิปไตยเท่านั้นเอง

เพราะทางออกจริงๆนั้น ต้องครบหลัก 3 ประการ ตามหลัก 3 ปรัชญาประชาธิปไตย จึงจะกล่าวได้ว่าเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนนั่นเอง

ปัญหาการเมือง 2 ขั้ว บนกรอบ"สองนครา สามปรัชญาประชาธิปไตย" จะยังคงตามหลอกหลอนเราไปอีกนาน ตราบเท่าที่ประชาชนมองเห็น หรือเสพความจริงบางส่วนตามที่ถูกผลิตออกมา  เพื่อเสี้ยมให้ประชาชน...ชนกัน จากนั้นเขาก็นับศพ แล้วปักธงประกาศชัยชนะบนซากศพเหล่านั้น

1 ความคิดเห็น: